ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี เกิดเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2455 ที่ ต.วังไม้ขนอน อ.เมือง จ.สวรรคโลก เป็นบุตรของ นายเชย และนางชะอุ่ม อยู่ดี (เอมะสุวรรณ) เสียชีวิตในปี พ.ศ. 2529

ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี เข้าเรียนที่โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดจันทบุรี (โรงเรียนศรียานุสรณ์) เมื่อปี พ.ศ. 2462 ต่อมา พ.ศ. 2464 จึงย้ายไปเรียนที่โรงเรียนประจำจังหวัดจันทบุรี (โรงเรียนเบญจมราชูทิศ) จนจบชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 เมื่อ พ.ศ. 2471 และในปี พ.ศ. 2472 เข้ามาเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยในระดับชั้นมัธยม 7 - 8 และสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2473

 

ในด้านการทำงาน หลังจากจบการศึกษาศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี ได้เข้ามาทำงานเป็นครูโรงเรียนเอกชนในกรุงเทพฯ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2475 จึงเข้ารับราชการเป็นครูที่โรงเรียนสวนกุหลาบ และในปี พ.ศ. 2480 มาเป็นครูที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ สอนวิชาภาษาไทย และภาษาอังกฤษ วิชาพลศึกษา และวิชาการฝีมือ

ปี พ.ศ. 2481 ดำรงตำแหน่งเป็นครูใหญ่โรงเรียนระยองมิตรอุปภัมภ์

ปี พ.ศ. 2485 เป็นครูโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย

ปี พ.ศ. 2495 ย้ายมาอยู่กองโบราณคดี กรมศิลปากร และดำรงตำแหน่งอื่นๆ ในกรม เช่น หัวหน้าแผนกพิพิธภัณฑพระนคร หัวหน้าแผนกวิชาการ หัวหน้ากองโบราณคดีภัณฑารักษ์เอก และภัณฑารักษ์พิเศษ ตามลำดับ จนกระทั้งเกษียณอายุราชการในปี พ.ศ. 2516 ได้รับพระราชทานปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาโบราณคดี จากมหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2517

หลังจากเกษียณอายุราชการ พ.ศ. 2518 ได้ดำรงตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญโบราณคดี กองโบราณคดี กรมศิลปากร และได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์พิเศษมหาวิทยาลัยศิลปากร ในปี พ.ศ. 2518 และเป็นผู้เชี่ยวชาญโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ตั้งแต่ พ.ศ. 2520 จนถึงปี พ.ศ. 2522

 

ศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี กับงานด้านโบราณคดี

นับตั้งแต่ที่อาจารย์ชิน อยู่ดี ย้ายมารับราชการที่กรมศิลปากร ในปี พ.ศ. 2490 ก็ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆ ในกรม เช่น หัวหน้าแผนกพิพิธภัณฑพระนคร หัวหน้าแผนกวิชาการ หัวหน้ากองโบราณคดีภัณฑารักษ์เอก และภัณฑารักษ์พิเศษ พร้อมกันนั้นยังได้ปฏิบัติงานต่างๆ ในด้านโบราณคดี เช่น

ปี พ.ศ. 2501 ร่วมสำรวจชาติพันธุ์วิทยา (เผ่าชอง) ใน จ.ราชบุรี กับนายอจ คองโดมินาส ชาวฝรั่งเศส

ปี พ.ศ. 2503 – 2505 เป็นหัวหน้าฝ่ายไทยของคณะสำรวจไทย – เดนมาร์ก ในการสำรวจและขุดค้นที่ จ.กาญจนบุรี – ราชบุรี

ปี พ.ศ. 2505 ร่วมสำรวจวัฒนธรรมภาคใต้กับมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

ปี พ.ศ. 2505 ร่วมสำรวจ และขุดค้นทางโบราณคดี ที่จัทแลนด์ ประเทศเดนมาร์ก

นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ควบคุมงานอนุรักษ์ และขุดค้นทางโบราณคดีบริเวณเมืองเก่าสุโขทัย และศรีสัชนาลัย ร่วมถึงโบราณสถานในอยุธยา ตั้งแต่ พ.ศ. 2494

รวมถึงในเวลาเดียวกันยังเป็นอาจารย์สอนในคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในวิชาก่อนประวัติศาสตร์ และวิชาโบราณคดีปฏิบัติ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2498 และยังสอนในมหาวิทยาลัยอื่นๆ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น

นอกจากนี้ยังเป็นคณะกรรมการ และที่ปรึกษาในการประชุม หรือองค์กรต่างๆ เช่น กรรมการพิพิธภัณฑ์พิเศษระหว่างชาติ (International Council of Museums (ICOM)) ที่ปรึกษาของสำนักงานโครงการศูนย์วิจัยประยุกต์ว่าด้วยโบราณคดีและวิจิตรศิลป์ ของกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAMEO) เป็นต้น

และยังมีผลงานตีพิมพ์ออกเป็นหนังสือ และบทความต่างๆ เช่น หนังสือสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย, คนก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย, เรื่องวัฒนธรรมบ้านเชียงในสมัยก่อนประวัติศาสตร์ และ อดีต : รวมเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ เป็นต้น