"พัฒนาการศิลปกรรมของเมืองลพบุรี
โครงการลพบุรีศึกษาเชิงบูรณาการ
เพื่อพัฒนาการของสังคมและเศรษฐกิจไทย

งานวิจัยเรื่อง “พัฒนาการศิลปกรรมของเมืองลพบุรีระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-24” โครงการลพบุรีศึกษาเชิงบูรณาการเพื่อพัฒนาการของสังคมและเศรษฐกิจไทย

 

งานวิจัยเรื่อง “พัฒนาการศิลปกรรมของเมืองลพบุรีระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-24” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการลพบุรีศึกษาเชิงบูรณาการเพื่อพัฒนาการของสังคมและเศรษฐกิจไทย มี รศ. ดร.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ เป็นหัวหน้าโครงการ ได้รับทุนอุดหนุนการวิจัยจากสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร ปี พ.ศ. 2549

ผลงานวิจัยเรื่อง “พัฒนาการศิลปกรรมของเมืองลพบุรีระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-24” แบ่งออกเป็น 5 ส่วน เพื่อศึกษาถึงกลุ่มงานศิลปกรรมต่างๆ ที่พบแพร่กระจายอยู่ในเขตพื้นที่จังหวัดลพบุรีแยกตามอายุสมัย กลุ่มของวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประเภทของงานศิลปกรรม ที่มีเงื่อนไขในการศึกษา และวิธีการนำเสนอที่แตกต่างกันออกไป ได้แก่

โครงการย่อยที่ 1 “ศิลปกรรมสมัยทวารวดี (ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 12-16)” โดย ผศ. รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง กล่าวถึงกลุ่มงานศิลปกรรมในจังหวัดลพบุรี ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมแบบทวารวดีที่พบแพร่กระจายอยู่ในบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วนของประเทศไทย โดยมุ่งเน้นไปที่กลุ่มงานประติมากรรม

โครงการย่อยที่ 2 “ศิลปกรรมที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมเขมร (พุทธศตวรรษที่ 17-18)” โดย อาจารย์ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ กล่าวถึงกลุ่มงานศิลปกรรมที่สร้างขึ้นในรสนิยมแบบเขมร ซึ่งพบหลักฐานเก่าแก่ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 15

โครงการย่อยที่ 3 “พัฒนาการศิลปกรรมสมัยก่อนอยุธยาและสมัยอยุธยา (พุทธศตวรรษที่ 18-23)” โดย รศ. ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์ ได้ทำการศึกษาพัฒนาการทางด้านศิลปกรรมของเมืองลพบุรี ภายหลังจากอำนาจทางการเมืองของเขมรหมดลงโดยเทียบเคียงกับกลุ่มประติมากรรมในเขตพื้นที่อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

โครงการย่อยที่ 4 “สถาปัตยกรรมประเภทอาคารสมัยสมเด็จพระนารายณ์” โดย อาจารย์อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช เป็นส่วนที่แยกออกมาจากโครงการวิจัยย่อยที่ 3 ออกมาเป็นการเฉพาะ เนื่องจากกลุ่มสถาปัตยกรรมประเภทอาคารสมัยพระนารายณ์ในเขตพื้นที่จังหวัดลพบุรีมีอยู่มากและถือเป็นกลุ่มศิลปกรรมสำคัญ มีคุณค่าในเชิงช่างเป็นอย่างสูง

โครงการวิจัยย่อยที่ 5 “พัฒนาการศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ (พุทธศตวรรษที่ 24-ปัจจุบัน)” โดย ประภัสสร์ ชูวิเชียร กล่าวถึงทั้งงานก่อสร้างในช่างหลวง ที่สำคัญได้แก่งานก่อสร้างภายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ วัดที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิสังขรณ์ คือ วัดกวิศราราม รวมถึงงานช่างพื้นบ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ทั้งชาวพวน ชาวมอญ และชาวไทย

โดยภาพรวมแล้วงานวิจัยชุดนี้กล่าวถึงกลุ่มงานศิลปกรรมที่พบในเขตพื้นที่จังหวัดลพบุรีตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 12 จนถึงช่วงร่วมสมัยกับปัจจุบัน ซึ่งมีทั้งลักษณะที่เป็นพัฒนาการ อิทธิพลทางวัฒนธรรมที่เข้ามาแทรกแซง รวมถึงลักษณะเฉพาะที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงสมัย ลักษณะเช่นนี้ทั้งสะท้อนและต่อยอดให้การศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับจังหวัดลพบุรีมีความชัดเจน และพลวัตมากยิ่งขึ้น