โครงการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว
ตำบลห้วยขุนราม อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี

โครงการขุดค้นแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว ต. ห้วยขุนราม อ. พัฒนานิคม จ. ลพบุรี

 

ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2543 รศ. สุรพล นาถะพินธุ และนักศึกษาภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี ได้ร่วมมือกับชมรมอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีและทรัพยากรธรรมชาติ ต. ห้วยขุนราม อ. พัฒนานิคม จ. ลพบุรี ราษฎรบ้านโป่งมะนาว และคณะกรรมการบ้านโป่งมะนาว ดำเนินการขุดตกแต่งหลุมจัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์บ้านโป่งมะนาว ที่ทางชุมชนโป่งมะนาวได้ดำเนินการปรับปรุงมาจากหลุมที่มีผู้ลักลอบขุดหาโบราณวัตถุ รวมทั้งปรับปรุงการจัดแสดงโบราณวัตถุที่พิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านโป่งมะนาว

ต่อมาใน พ.ศ. 2544 ทางหมู่บ้านโป่งมะนาว องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยขุนรามและ

ชมรมอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีและทรัพยากรธรรมชาติตำบลห้วยขุนราม ได้จัดทำโครงการขุดค้นทางโบราณคดีเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว โดยได้รับความร่วมมือจากกรมศิลปากรอนุมัติให้ทำโครงการขุดค้นและมี รศ. สุรพล นาถะพินธุ เป็นหัวหน้าโครงการและนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการขุดค้นร่วมกับนักโบราณคดีจากสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 3 จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและชาวบ้านโป่งมะนาว โดยร่วมกันปฏิบัติงานเมื่อระหว่างวันที่ 8 – 31 ตุลาคม 2544 และทำการขุดค้นอย่างต่อเนื่องอีกจนถึงปี 2547 รวมทั้งสิ้น 6 ครั้ง

 

สรุปความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมบางประการของคนก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านโป่งมะนาว

จากการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีที่บ้านโป่งมะนาว พบว่าคนยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่บ้านโป่งมะนาวกำหนดอายุอยู่ในช่วงสมัยเหล็ก ราว 2,500 ปีมาแล้ว มีการเลือกสร้างบ้านเรือนในบริเวณใกล้ลำห้วย หรือกระจายไปตามแนวริมฝั่งของลำห้วย ในขณะที่จงใจจัดบริเวณตอนกลางของพื้นที่ตั้งชุมชนไว้เป็นสุสานรวมที่ประชากรทั้งชุมชนใช้ร่วมกัน

มีประเพณีการปลงศพที่พบ 2 แบบ คือ การฝังศพแบบปรกติ ที่พบว่าใช้กับทุกเพศและวัย และคงใช้สำหรับปลงศพคนที่เคยมีชีวิตอยู่ช่วงหนึ่งแล้วจึงได้เสียชีวิตลง กรณีเช่นนี้จะปลงศพด้วยการฝังศพในพื้นที่สุสานรวมของชุมชน และฝังศพไว้ในหลุมตื้นๆ โดยจัดให้ศพอยู่ในท่านอนหงายเหยียดยาว หลายศพ มีการจงใจทุบภาชนะดินเผาหลายใบให้แตก จากนั้นนำเศษภาชนะดินเผามาปูรองบริเวณที่จะฝังศพ และมีประเพณีการฝังเครื่องมือเครื่องใช้โลหะ เครื่องประดับ ร่วมกับศพ

และการปลงศพแบบพิเศษ ใช้สำหรับศพทารกที่เสียชีวิตเมื่อคลอด โดยจะนำศพทารกบรรจุลงในภาชนะดินเผาใบใหญ่

ชุมชนแห่งนี้มีเทคโนโลยีด้านโลหะกรรม การทำสำริดและเหล็ก โดยรูปแบบของเครื่องมือเครื่องใช้โลหะ แสดงถึงความสัมพันธ์กับชุมชนอื่น

หลักฐานทางโบราณคดีเท่าที่พบทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าตั้งแต่เมื่อยุคก่อนประวัติศาสตร์ช่วงตั้งแต่ราว 2,500 ปีมาแล้วนั้น บริเวณบ้านโป่งมะนาวได้พัฒนาเป็นชุมชนขนาดใหญ่มาก ชุมชนนี้มีการจัดพื้นที่บางส่วนไว้เป็นสุสานโดยเฉพาะ ซึ่งแสดงว่าชุมชนนี้มีระบบในการจัดระเบียบสังคม มีประเพณีการทำศพที่ยึดถือร่วมกันในชุมชน โครงกระดูกจำนวนมากที่พบทั้งจากการลักลอบขุดและการขุดค้นตามหลักวิชาการโบราณคดีเป็นหลักฐานที่ชี้ชัดเจนว่าชุมชนนี้มีประชากรหนาแน่นมาก

สิ่งของเครื่องใช้และเครื่องประดับทำจากวัสดุต่างๆ ที่คนสมัยโบราณอุทิศให้ศพ บางชิ้นเป็นสิ่งที่ได้มาจากการแลกเปลี่ยนกับชุมชนอื่นทั้งที่อยู่ใกล้และไกล เป็นชุมชนที่ได้พัฒนาขึ้นเป็นศูนย์กลางประชากร ศูนย์กลางเศรษฐกิจและศูนย์กลางทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่งในพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทยโดยเฉพาะในพื้นที่บริเวณรอยต่อระหว่างที่ราบภาคกลางกับที่ราบสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ