2498 - 2508 จากโรงเรียนศิลปศึกษาแผนกเตรียมโบราณคดี สู่คณะโบราณคดีที่ตำหนักพรรณราย Download Document

เริ่มต้นที่โรงเรียนศิลปศึกษา

ก่อนการเปิดสอนคณะโบราณคดีอย่างเป็นทางการ มหาวิทยาลัยศิลปากรได้เปิดสอนแผนกเตรียมโบราณคดีขึ้นในโรงเรียนศิลปศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2496 แรงผลักดันหนึ่งมาจากในขณะนั้นกรมศิลปากรขาดบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถทางโบราณคดี การขุดแต่งบูรณะโบราณสถาน รวมถึงการจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถาน เนื่องจากบุคคลากรส่วนใหญ่ที่เข้ามารับราชการในกรมศิลปากรไม่มีความรู้ด้านโบราณคดีมาก่อน หลวงรณสิทธิพิชัย อธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากร รวมถึงมานิต วัลลิโภดม ตำแหน่งหัวหน้ากองโบราณคดี ในเวลานั้น จึงได้ร่วมกันพิจารณาเรื่องการเปิดแผนกโบราณคดีในโรงเรียนศิลปศึกษาขึ้น

การเรียนการสอนของแผนกเตรียมโบราณคดีในระยะแรกได้ใช้ห้องปฏิบัติงานศิลปะของมหาวิทยาลัยศิลปากร ด้านหลังกรมศิลปากร และกองหัตถศิลป กรมศิลปากรเป็นสถานที่ศึกษา เพราะต้องใช้ข้าราชการในกองหัตถศิลปเป็นอาจารย์สอน ถัดมาในปี พ.ศ. 2497 จึงได้ย้ายมาเรียนที่อาคารกระทรวงคมนาคมเดิม ในพื้นที่ของวังหน้า (บริเวณโรงละครแห่งชาติปัจจุบัน) 

อาจารย์ที่สอนในแผนกเตรียมโบราณคดีส่วนหนึ่งใช้อาจารย์จากข้าราชการของกรมศิลปากร เช่น ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ
ดิศกุล, จิรา จันทรานนท์นัยวินิจ (อาจารย์จิรา จงกล), แสง มณวิฑูรย์ รวมถึงศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี เป็นต้น

ตั้งคณะโบราณคดีสู่พื้นที่มหาวิทยาลัยศิลปากร

โดยมีจุดมุ่งหมายหลักให้เป็นคณะวิชาที่ผลิตข้าราชการด้านโบราณคดีของกรมศิลปากร หลักสูตรและการเรียนการสอนในระยะแรกนั้นจึงเน้นหนักไปในด้านการผลิตนักวิชาการสาขาโบราณคดีเป็นสำคัญ

โดยในระยะแรกสุดเป็นหลักสูตรอนุปริญญา ต่อมาจึงขยายการศึกษาถึงระดับปริญญาตรี และในปี พ.ศ. 2503 คณะโบราณคดีได้ย้ายจากโรงเรียนศิลปศึกษาเดิมมาทำการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยศิลปากร ตรงพื้นที่ที่เคยเป็นบริเวณของวังกลาง และวังตะวันออก โดยใช้อาคารร่วมกับคณะจิตรกรรมและประติมากรรม และคณะสถาปัตยกรรมไทย (ปัจจุบันเป็นอาคารของคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์)

ถึงตำหนักพรรณรายวังท่าพระ

พ.ศ. 2507 มหาวิทยาลัยศิลปากร ขยายพื้นที่การเรียนการสอนเพิ่มเติมจากบริเวณวังกลางและวังตะวันออก เข้ามาใช้พื้นที่บริเวณ “วังท่าพระ” เป็นสถานศึกษา คณะโบราณคดีจึงได้ย้ายมาทำการเรียนการสอนที่อาคาร 2 หลัง ของวังท่าพระ คือตำหนักพรรณราย และตำหนักใหญ่

อาจารย์ผู้สอนในช่วงแรกของคณะโบราณคดี มีฐานเป็นลูกจ้างของมหาวิทยาลัย หรือเป็นข้าราชการในกรมศิลปากร เช่น ชิน อยู่ดี ผู้สอนวิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ บังเอิญ มาประณีต, ปรีชา กาญจนาคม, พเยาว์ อัศวเดชา, ศรีศักด์ วัลลิโภดม, พันธุ์ทิพย์ ณ สงขลา, สุทธิลักษณ์ ไชยสุต และมนตรี อุมะวิชนี เป็นต้น คณาจารณ์เหล่านี้เป็นผู้บุกเบิกยุคเริ่มต้นของคณะโบราณคดี บางท่านได้ไปศึกษาต่อในสาขาเฉพาะทางและกลับมาเป็นอาจารย์ รวมถึงเป็นผู้วางรากฐานแนวทางพัฒนาไปเป็นสาขาภาควิชาต่างๆ

2498

คณะโบราณคดีได้ก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ เป็นคณะวิชาที่ 3 ของมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมี ศาสตราจารย์ หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ เป็นคณบดีคนแรก หลักสูตรอนุปริญญา 3 ปี แบ่งเป็น 4 หมวดวิชา คือ 1. หมวดโบราณคดีและประวัติศาสตร์ 2. หมวดศิลปกรรม 3. หมวดภาษาตะวันตก 4. หมวดภาษาไทยและภาษาตะวันออก สถานที่เรียนของคณะโบราณคดียังอยู่ที่โรงเรียนศิลปศึกษา คือที่อาคารกระทรวงคมนาคมเดิม รวมถึงในบางส่วนของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เมื่อแรกตั้งคณะขึ้นนั้น ยังไม่มีอาจารย์ประจำ อาจารย์ที่สอนส่วนใหญ่ เป็นข้าราชการจากกรมศิลปากร และอาจารย์พิเศษจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ 

2499

2500

โรงเรียนศิลปศึกษาได้ยุบแผนกโบราณคดีลง แล้วรวมแผนกจิตรกรรม ประติมากรรม และแผนกช่างสิบหมู่เข้าด้วยกัน เป็น “แผนกเตรียมศิลป” แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น”โรงเรียนศิลปศึกษาเตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร” ที่ต่อมาได้กลายเป็น “โรงเรียนช่างศิลป” สังกัดกรมศิลปากร ย้ายไปอยู่วังหน้าเมื่อปี 2504 และยกฐานะขึ้นเป็น “วิทยาลัยช่างศิลป” ในปี 2518

2502

รัฐบาลกัมพูชา ยื่นฟ้องต่อศาลโลก หรือ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (International Court of Justice) ณ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เรียกร้องกรรมสิทธิ์เหนือเขาพระวิหาร ในเขต อ. กันทรลักษ์ จ. ศรีสะเกษ ของไทย ว่าประเทศไทยละเมิดอธิปไตยเหนือเขาพระวิหารซึ่งเป็นของกัมพูชา ตั้งแต่ปี 2497 เป็นต้นมา และขอเรียกร้องให้คืนอธิปไตยเหนือเขาพระวิหารคืนแก่กัมพูชา 

2503

พ.ศ. 2503 - 2505 คณะสำรวจเรื่องราวก่อนประวัติศาสตร์ไทย-เดนมาร์คได้เชิญ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุด แสงวิเชียร และศาสตราจารย์ชิน อยู่ดี ให้ไปร่วมการขุดค้นที่บ้านเก่า จ. กาญจนบุรี โดยช่วงการขุดค้นระยะที่ 2 (2504 – 2505) นักเรียนโบราณคดีได้ร่วมฝึกอบรมเรียนรู้เทคนิคการขุดค้นโบราณคดีภาคปฏิบัติของสาขาก่อนประวัติศาสตร์อย่างเป็นระบบครั้งแรก

2505

2506

จุดเริ่มต้นของผลงานประพันธ์ชิ้นสำคัญของ ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล มีที่มาจากการแสดงปาฐกถาที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งหลังจากการบรรยายในครั้งนั้น ศาสตราจารย์เพ็ชรี สุมิตร อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ได้ชักชวนให้เรียบเรียงปาฐกถาดังกล่าวขึ้น ต่อมาจึงได้เกิดเป็นหนังสือชุดที่ถือเป็นคู่มือพื้นฐานสำคัญสำหรับนักศึกษาและผู้ที่สนใจในด้านประวัติศาสตร์ศิลปะ คือ เรื่อง “ศิลปะในประเทศไทย”, “ศิลปะอินเดีย” และ“ประวัติย่อศิลปะลังกา ชวา ขอม” ซึ่งต่อมาสองเล่มหลังได้รวมออกมาเป็นหนังสือเรื่อง “ประวัติศาสตร์ศิลปะประเทศใกล้เคียง อินเดีย ลังกา ชวา จาม ขอม พม่า ลาว” ที่ได้เพิ่มศิลปะจาม พม่า ลาว เข้ามาให้ครบตามชื่อศิลปะประเทศใกล้เคียง

2507

จัดสัมมนาทางประวัติศาสตร์โบราณคดีขึ้นครั้งแรก ในหัวข้อ “บรรพบุรุษของไทยเป็นใคร” เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2507 ได้รับความสนใจจากบุคคลภายนอกเป็นจำนวนมาก โดยบุคคลสำคัญในการริเริ่มคือ อาจารย์ไฮแรม วูดวาร์ด (Hiram Woodward) อาจารย์สอนภาษาอังกฤษในคณะโบราณคดี อาจารย์นิสา เชนะกุล และอาจารย์ ศรีศักร วัลลิโภดม อาจารย์ประจำคณะโบราณคดี 

ตั้งแต่ราว พ.ศ. 2507 เป็นต้นมา น่าจะเริ่มมีการแต่งเพลงคณะโบราณคดีมาเป็นระยะๆ ผู้ซึ่งมีบทบาทในการแต่งเพลงช่วงระยะแรก คือ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ (เข้าเรียนในคณะโบราณคดี พ.ศ. 2507-2513) เพลงที่แต่งไว้ในช่วงที่เป็นนักศึกษา ได้แก่ เพลงไม่มีน้ำตา (ภายหลังรู้จักกันในชื่อ โบราณคดีไม่มีน้ำตา), เพลงรีบไปทำงาน (ภายหลังรู้จักกันในชื่อ เพลงโบราณคดี 2), เพลงอยุธยา, เพลงลพบุรี และ เพลงสุโขทัย

2508

ตั้ง “ชุมนุมศึกษาวัฒนธรรม-โบราณคดี” เพื่อเป็นที่รวมนักศึกษาที่มีความสนใจในเรื่องโบราณคดี ประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมไทย ใช้เวลาว่างจากการเรียนเพิ่มพูนความรู้จากการปาฐกถาหรือบรรยาย และออกสำรวจยังท้องที่ต่างๆ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางพบปะแลกเปลี่ยนด้านวิชาการระหว่างนักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่าคณะโบราณคดี มี พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ เป็นประธานชุมนุมคนแรก

INFO-GRAPHIC TIMELINE

OF ARCHAEOLOGY FACULTY, SILPAKORN UNIVERSITY

แผนผังภาพแสดงประวัติคณะโบราณคดีแบบเรียงลำดับเวลา