2509 - 2518 ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอน และวางรากฐานกิจกรรมนักศึกษา ชุมนุม ชมรม Download Document

ปรับปรุงหลักสูตร

ในช่วงเวลานี้ได้เกิดกระแสการปรับปรุงคณะโบราณคดี ที่เป็นจุดเปลี่ยนให้เกิดการปรับปรุงหลักสูตรให้กว้างขวางและหลากหลายขึ้น สืบเนื่องจากฝ่ายบริหารของมหาวิทยาลัยเห็นว่าหลักสูตรวิชาพื้นฐานของคณะโบราณคดี คล้ายกับคณะอักษรศาสตร์ที่จะเปิดขึ้นใหม่ จึงมีแนวคิดที่จะให้ยุบคณะโบราณคดีลง ไปเป็นสาขาวิชาหนึ่งของอักษรศาสตร์ แม้ต่อมาจะไม่ได้มีการยุบรวมกับคณะอักษรฯ แต่ภายหลังยังมีโครงการที่จะตั้งคณะศิลปศาสตร์ขึ้นใหม่ที่วังท่าพระ แล้วยกคณะโบราณคดีขึ้นเป็นสถาบัน สอนเฉพาะปริญญาโท แต่โครงการต่างๆ ก็ได้ถูกระงับไว้ ปรับเปลี่ยนเป็นให้คณะโบราณคดีรับหน้าที่สอนวิชาพื้นฐานให้กับคณะต่างๆ ของวิทยาเขตวังท่าพระ จึงเป็นโอกาสให้คณะโบราณฯ ได้ปรับปรุงการเรียนการสอน เปิดปริญญาโทของสาขาโบราณคดี และได้งบประมาณสำหรับการก่อสร้างอาคารเรียนใหม่เพื่อรองรับการเรียนการสอนหลักสูตรพื้นฐานทางศิลปศาสตร์ รวมทั้งแนวคิดในการที่จะยกเลิกหลักสูตรปริญญาตรีของคณะโบราณคดีดังกล่าว ได้นำไปสู่การปรับเปลี่ยนหลักสูตรในปี 2513 จากศิลปบัณฑิตเป็นศิลปศาสตรบัณฑิต และต่อมาในปี 2517 ได้แยกออกเป็น 7 สาขาวิชาเอก เพื่อรองรับและตอบสนองนักศึกษาที่เข้าเรียนและจบใหม่ได้มีทางเลือกที่หลากหลายขึ้น รวมทั้งบรรดาอาจารย์ที่ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศเริ่มกลับมาสอนในคณะและก่อร่างวางหลักสูตรการเรียนการสอนในแต่ละภาควิชา

นอกจากนี้ ระบบวีธีการเรียนการสอนที่ยังไม่ลงตัวในช่วงแรกๆ นี้ ได้เป็นแรงผลักดันให้นักศึกษารวมกลุ่มสมาชิกที่มีความสนใจร่วมกันจัดกิจกรรมและชุมนุมขึ้น เพื่อสร้างบรรยาการในการสร้างความรู้เพิ่มเติมใหม่ๆ จากภายนอก ด้วยการออกสำรวจ จัดเสวนา จัดทำวารสาร ฯลฯ ที่ได้กลายเป็นแนวทางให้กับนักศึกษารุ่นต่อๆ มา

2509

ในปี พ.ศ. 2509 ท่านอาจารย์และ ฌอง บวสเซอลิเยร์ พร้อมทั้งนักศึกษาคณะโบราณคดีขุดค้นที่เมืองโบราณอู่ทอง อ. อู่ทอง จ. สุพรรณบุรี ครั้งนั้นจึงเกิดข้อสมมติฐานใหม่ทางโบราณคดีว่าเมืองอู่ทองผู้คนเริ่มเบาบางตั้งแต่ พุทธศตวรรษที่ 15-16 ส่งผลให้แนวคิดเรื่องสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 พระเจ้าอู่ทองไม่ได้เสด็จมาจากเมืองอู่ทอง

ในปี พ.ศ. 2509 เขาคาเริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่นักวิชาการโบราณคดี เมื่อชุมนุมศึกษาวัฒนธรรม-โบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร นำโดยอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม ได้สำรวจพบโบราณสถานบนแนวสันเขาคาและพบศิวลึงค์ ซึ่งได้นำไปเก็บรักษาไว้ที่หน่วยศิลปากรที่ 8 นครศรีธรรมราช (ปัจจุบันคือสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 11 นครศรีธรรมราช) หลังจากนั้น เขาคาก็เป็นจุดสนใจของนักวิชาการหลายๆ ท่าน อาทิ ศรีศักร วัลลิโภดม, คงเดช ประพัฒน์ทอง, ประทุม ชุ่มเพ็งพันธุ์, ปรีชา นุ่นสุข, ธราพงศ์ ศรีสุชาติ ฯลฯ ได้เขียนบทความตีพิมพ์ในหนังสือและวารสารต่างๆ เกี่ยวกับความสำคัญของเขาคา 

ชมรมดนตรี น่าจะเกิดขึ้นในช่วง พ.ศ. 2509 หรือ ช่วงเดียวกับชมรมศึกษาวัฒนธรรมและโบราณคดี โดยในช่วงแรกอยู่ในรูปแบบของ “วงดนตรีไทย” ที่เกิดจากการรวมตัวของนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่มีความสนใจในศิลปะดนตรีไทย ใช้ชื่อว่า “ชมรมดนตรีไทยคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์” สังกัดอยู่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาจากคณะโบราณคดี

2510

คณะโบราณคดีได้ตั้งงบประมาณขอซื้อรถแลนด์โรเวอร์ แบบตรวจการ 1 คัน เพื่อใช้ในการออกสำรวจ และได้รับงบประมาณให้ซื้อรถดังกล่าว ได้ใช้ออกสำรวจแหล่งโบราณคดี เป็นรถยนตร์คันแรกของคณะและรถคันแรกของมหาวิทยาลัยศิลปากร  “รถคณะโบราณคดีคันแรกตอนนั้นเป็น Jeep Land Rover หรูหรามาก เป็นคันแรกและคันเดียวของมหาวิทยาลัย....พอได้มาก็ใช้เกินคุ้มเลย มีเรื่องมีราวตรงไหน อย่างไร ก็ไปกัน รถจี้ปคันนึงนั่งได้ก็ประมาณสัก 12 คน แต่เราอัดกันเข้าไปตั้ง 20 คน ไม่รู้นั่งซ้อนๆ กันไปได้อย่างไร...” อาจารย์ปรีชา กาญจนาคม เล่าถึงรถยนต์คันแรกของคณะโบราณคดี ในหนังสือ 60 ปี มหาวิทยาลัยศิลปากร พ.ศ. 2486-2546

ชุมนุมศึกษาวัฒนธรรม-โบราณคดี จัดนิทรรศการ “โบราณคดี” ขึ้นเป็นครั้งแรก มีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานของนักศึกษาสาขาต่างๆ และการอภิปรายในหัวข้อต่างๆ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชาติไทย ณ บริเวณสวนแก้ว และท้องพระโรงวังท่าพระ ระหว่างวันที่ 29 มกราคม-4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2510 และได้จัดต่อเนื่องมาเป็นประจำทุกปี 

คณะโบราณคดีจัด โบราณคดีทัศนา ขึ้นครั้งแรก ณ อ. ศรีมหาโพธิ จ. ปราจีนบุรี ในวันที่ 12 มีนาคม 2510 เป็นการร่วมใจกันระหว่างอาจารย์และนักศึกษา เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้รู้สึกถึงความสำคัญของโบราณสถาน ด้วยการชักนำให้รู้จักคุณค่าและประวัติความเป็นมาของวัตถุนั้นๆ โดยสืบเนื่องจากเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2509 คณะโบราณคดีได้พานักศึกษาไปฝึกการขุดแต่งซากโบราณสถานที่โคกขวาง อ. ศรีมหาโพธิ จ. ปราจีนบุรี และที่ อ. ศรีมหาโพธิ นี้เองเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณศรีมโหสถหรือเมืองพระรถ ที่ยังมีร่องรอยของโบราณวัตถุสถานเป็นจำนวนมากจึงได้เลือกจัด “โบราณคดีทัศนา” ครั้งแรกขึ้นที่นี่ รายได้จากการจัดได้นำไปสมทบกองทุนของคณะ

ราวปี 2510–2511 เล่ากันว่า พิเศษ สังข์สุวรรณ ได้แต่งเพลง “แววมยุรา” ขึ้น ในช่วงนี้ ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดกระแสการยุบคณะโบราณคดี เนื้อเพลงกล่าวถึงความน้อยเนื้อต่ำใจที่ผู้คนไม่เห็นถึงความสำคัญของโบราณคดี เปรียบเทียบกับดอกแววมยุรา หรือดอกผักตบชวา ที่ต่อมาได้กลายเป็นเพลงประจำคณะจนปัจจุบัน

ปฏิรูปพิธีรับน้อง สร้างทัศนคติและความประทับใจแก่น้องใหม่ มีการดึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์เข้ามาเกี่ยวข้อง ด้วยการกราบลาขอศีลขอพรจากศาลในมหาวิทยาลัย และเริ่มขั้นตอนพิธีการรับน้องใหม่ที่ภายหลังได้กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสืบต่อกันมาในแต่ละรุ่น โดยมีขั้นตอนใหญ่ๆ ประกอบด้วย 1. ระยะซ่อม 2. สุกดิบ 3. วันพิธีรับน้อง แต่ยังไม่มีคล้องมาลัยใบจันทน์

2511

2512

มีการตั้งแผนกการแสดงและเชียร์ เป็นผู้ดูแลและวางแผนดำเนินกิจกรรมรับน้องใหม่โดยตรง ปฏิรูปการแต่งกายในพิธีรับน้องใหม่ ให้เป็นลักษณะไทยพื้นบ้าน ทั้งรุ่นพี่และรุ่นน้อง เช่น ผู้ชายสวมกางเกงขาก๊วยและผ้าขาวม้า ผู้หญิงนุ่งผ้าถุง เป็นต้น ซึ่งต่อมารายละเอียดต่างๆ ของพิธีรับน้องก็ได้มีการปรับเปลี่ยนไปในแต่ละรุ่นตามความเหมาะสม

2513

ศ. มจ. สุภัทรดิศ ดิศกุล คณบดีคณะโบราณคดีในขณะนั้น เสนอความคิดเห็นต่อรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร ให้ยกคณะโบราณคดีขึ้นเป็นสถาบันโบราณคดี สอนเฉพาะปริญญาโท และตั้งคณะศิลปศาสตร์ขึ้นใหม่ที่วังท่าพระ โดยมติที่ประชุมคณบดีเห็นชอบ ให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนามหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งในปีต่อมาที่ประชุมมหาวิทยาลัยศิลปากรได้เสนอโครงการจัดตั้งคณะศิลปศาสตร์ บรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2515 – 2519)

2514

2515

ระงับโครงการจัดตั้งคณะศิลปศาสตร์ที่วังท่าพระ ให้คณะโบราณคดีเป็นผู้ดำเนินการสอนหลักสูตรพื้นฐานทางศิลปศาสตร์ แล้วโอนงบประมาณสำหรับการจัดตั้งสถาบันโบราณคดี การจัดตั้งและการสร้างอาคารเรียนคณะศิลปศาสตร์ ย้ายมาสนับสนุนคณะโบราณคดี เพื่อการจัดสอนวิชาพื้นฐานทางศิลปศาสตร์ให้แก่คณะวิชาต่างๆ ในวังท่าพระ พร้อมกับเปิดสอนหลักสูตรปริญญาโทสาขาวิชาโบราณคดี และการสร้างอาคารเรียนแห่งใหม่ให้แก่คณะโบราณคดี

2516

คณะโบราณคดีจัดงาน “วันดำรง” ครั้งแรก เนื่องในโอกาสครบรอบวันประสูติ 111 ปี ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นการปรับมาจากงานนิทรรศการทางโบราณคดี ที่คณะเคยจัดเป็นประจำตั้งแต่ พ.ศ. 2510 โดยเลื่อนวันให้ใกล้เคียงกับวันประสูติของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นมา

เริ่มทำการขุดค้นเมืองโบราณซับจำปา อ. ท่าหลวง จ. ลพบุรี โดยอาจารย์และนักศึกษา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร หลังที่นี่เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับการสำรวจทางโบราณคดี โดยกรมศิลปากรที่ 1 จ. ลพบุรี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513 อาจารย์วีรพันธุ์ มาไลยพันธุ์ เป็นผู้ควบคุมการขุดค้น ได้เขียนบทความและดำเนินงานเบื้องต้น เผยแพร่ชื่อ “ซับจำปา” พิมพ์ในวารสารโบราณคดี และพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ ในหนังสือ Early South East Asia

พิพิธภัณฑ์คณะโบราณคดี เปิดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2516 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาทรงทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการ มีโบราณวัตถุที่คณะฯ ไปสำรวจและเก็บรวบรวมมาจัดแสดง ห้องจัดแสดงตั้งอยู่ชั้นล่างพระตำหนักใหญ่ของวังท่าพระ ภายหลังโบราณวัตถุบางส่วน กรมศิลป์ได้นำกลับคืนไป บางชิ้นถูกย้ายมาที่คณะฯ พิพิธภัณฑ์คณะโบราณคดีแห่งนี้น่าจะปิดตัวลงในช่วงก่อน พ.ศ. 2532 โดยไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด

2517

คณะโบราณคดีปรับปรุงหลักสูตรใหม่ เพื่อให้เหมาะสมกับยุคสมัย รับนักศึกษาได้มากขึ้น โดยใช้ระบบหน่วยกิต และแบ่งภาควิชาออกเป็น 5 ภาควิชา คือ รวมภาควิชาโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์เป็นภาควิชาโบราณคดี ตั้งภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะและภาควิชามานุษยวิทยาขึ้นใหม่ ส่วนภาควิชาภาษาตะวันออกและภาควิชาภาษาตะวันตกยังคงเดิม ซึ่งนักศึกษาสามารถเลือกเรียนวิชาเอกได้ 7 สาขา ได้แก่ 1. สาขาวิชาโบราณคดี 2. สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ 3. สาขาวิชามานุษยวิทยา 4. สาขาวิชาภาษาอังกฤษ 5. สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส 6. สาขาวิชาภาษาไทย 7. สาขาวิชาการอ่านจารึก

ฝ่ายวิชาการนักศึกษาคณะโบราณคดี จัดตั้งขึ้นเป็นปีแรก มีจุดประสงค์ที่จะสร้างบรรยากาศทางวิชาการด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และวัฒนธรรม เพื่อสนับสนุนให้นักศึกษาได้ศึกษาค้นคว้าหาหลักฐานใหม่ๆ มาวิเคราะห์ โดยการคัดเลือกตีพิมพ์เอกสารที่น่าสนใจเผยแพร่สู่สาธารณะ เป็นโครงการตำราของฝ่ายวิชาการฯ ผลงานที่ตีพิมพ์ เช่น หนังสือ “อดีต” ของ ศ. นพ. สุด แสงวิเชียร และอาจารย์ชิน อยู่ดี รวมทั้งออกสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อจัดทำเป็นวารสารในชื่อ “ดำรง” เป็นวารสารรายเดือน ฉบับแรกออกวางจำหน่ายในเดือนธันวาคม จัดทำรวม 3 ฉบับ แล้วเลิกผลิตไปในปี 2518

2518

คณะโบราณคดี จัดสัมมนาสังคโลกใต้อ่าวไทยกับการวินิจฉัยปัญหาเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมในสมัยสุโขทัย โดยฝ่ายวิชาการนักศึกษาคณะโบราณคดี ซึ่งมีที่มาจากการค้นพบเครื่องสังคโลกในอ่าวไทย เมื่อ พ.ศ. 2517ที่ทำให้เกิดการถกเถียงเรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับสมัยสุโขทัยและอยุธยาอย่างกว้างขวาง ทางฝ่ายวิชาการฯ เห็นเป็นช่องทางที่จะทำการสังคายนาประวัติศาสตร์สุโขทัยใหม่จึงได้จัดสัมมนาครั้งนี้ขึ้น โดยมีเรื่องของสังคโลกสุโขทัยมาเป็นหัวข้อวิเคราะห์ประกอบไปพร้อมกัน

INFO-GRAPHIC TIMELINE

OF ARCHAEOLOGY FACULTY, SILPAKORN UNIVERSITY

แผนผังภาพแสดงประวัติคณะโบราณคดีแบบเรียงลำดับเวลา