2519 - 2528 ตึกคณะโบราณฯ แห่งใหม่ และยุคแสวงหาข้อมูลใหม่ สำรวจ ค้นคว้า วิจัย เกิดผลงานวิชาการแต่ละภาควิชา Download Document

ตึกคณะโบราณฯ แห่งใหม่ กับยุคการบุกเบิกครั้งใหม่

หลังเหตุการณ์ทางการเมือง ในปี 2519 เป็นช่วงเวลาที่ประเทศกำลังเร่งรัดพัฒนาเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างความเจริญก้าวหน้าเพื่อตอบสนองสวัสดิภาพความเป็นอยู่ของประชากรเป็นสำคัญ รัฐบาลจึงเน้นหนักในการสนับสนุนโครงการเพื่อยกระดับมาตรฐานการครองชีพ ส่วนการดำเนินงานด้านทำนุบำรุงรักษาโบราณวัตถุสถานได้ถูกลดบทบาทลง แหล่งข้อมูลที่กำลังเปลี่ยนแปลงและเสื่อมสลาย ความกระหายใคร่รู้ ทำให้ทั้งนักวิชาการ อาจารย์ และนักศึกษาต่างต้องพยายามสร้างโอกาสเพื่อแสวงหาข้อมูลความรู้เพิ่มเติม โดยมีกลุ่มเอกชนหรือบุคคลภายนอกที่ให้ความสนใจให้การสนับสนุน เช่น การจัดโบราณคดีสัญจร การจัดกิจกรรมเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ที่ทั้งเพื่อส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมโบราณคดีและยังได้เงินทุนสำหรับใช้ในกิจกรรมและทุนการเรียนของนักศึกษาไปด้วย รวมทั้งได้เกิดพื้นที่สำหรับงานวิชาการด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากวารสารเมืองโบราณที่เพิ่งเปิดตัวไปไม่กี่ปีอีกแห่งหนึ่ง ได้แก่ นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ที่จัดตั้งขึ้นโดยเอกชน เป็นแหล่งแลกเปลี่ยนเผยแพร่ความรู้ด้านประวัติศาสตร์วัฒนธรรมออกสู่ประชาชนทั่วไป

นอกจากนี้หลังจากการเปิดสอนแยกตามสาขาวิชา แม้ในชั้นแรกจะมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการศึกษาโบราณคดี แต่การเรียนการสอนในแต่ละสาขาก็มีเนื้อหาเฉพาะทางลงรายละเอียดมากขึ้น ซึ่งตำหรับตำราสำหรับการสอนยังมีน้อยมาก คณาจารย์ต้องแสวงหาค้นคว้าวิจัยเพิ่มเติมทั้งเพื่อนักศึกษาและเสริมความรู้ของตัวผู้สอนไปพร้อมกัน จึงเริ่มมีบทความ เอกสาร หนังสือ เพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอน พิมพ์เผยแพร่ออกมาหลากหลายมากขึ้น มีการเปิดหลักสูตรระดับปริญญาโทในสาขาต่างๆ และหมวดวิชาประวัติศาสตร์ อาจารย์ประจำภาคที่เคยมีจำนวนน้อยก็ได้ศิษย์ที่จบไปกลับมาเป็นอาจารย์เพิ่มเติม นับเป็นช่วงเวลาแห่งการก่อร่างสร้างภาควิชาให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้น 

2519

เริ่มการฝึกอบรมโบราณคดีใต้น้ำในคณะโบราณคดีอย่างเป็นทางการ ส่งนักศึกษาที่ผ่านการคัดเลือก เข้าฝึกอบรมการดำน้ำเป็นเวลา 3 เดือน ที่หน่วยทำลายใต้น้ำจู่โจม ที่สัตหีบ อาจารย์ปฐมฤกษ์ เกตุทัต อาจารย์คณะโบราณคดี เป็นผู้ประสานงาน หม่อมเจ้าชาตรี เฉลิมยุคล หรือ ท่านมุ้ย เป็นผู้ฝึกสอน รวมถึงอำนวยความสะดวกเรื่องอุปกรณ์ดำน้ำ

นักศึกษาคณะโบราณคดี จัดโบราณคดีสัญจร ที่น่าจะมีขึ้นเป็นทางการครั้งแรก หลังจากการในคราวที่พาผู้ร่วมสัมมนาสังคโลกฯ ไปชมสังคโลกที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติและชมแหล่งขุดค้นที่อ่าวสัตหีบ ได้รับความสนใจอย่างมาก จึงเป็นที่มาให้เกิดการริเริ่มจัดกิจกรรมในครั้งนี้ โดยพาผู้ที่สนใจไปทัศนศึกษาชมแหล่งโบราณคดีในต่างจังหวัด ที่อุดรธานี สกลนคร นครพนม ระหว่างวันที่ 6-8 กุมภาพันธ์ 2519 มีวิทยากรนำชมคือ ศ. ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ซึ่งมีจุดมุ่งหมายหลักคือการไปชมพระธาตุพนมที่เพิ่งล้มและกำลังดำเนินการบูรณะโดยกรมศิลปากร รวมทั้งชมแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในบริเวณภาคอีสาน เช่น สุสานที่บ้านเชียง ภาพเขียนสีบ้านผือ พระธาตุนารายณ์เจงเวง เป็นต้น รายได้จากการบริจาคในการทัศนศึกษานำไปเป็นทุนในการศึกษาค้นคว้าของนักศึกษา

2520

จุดเริ่มต้นของ โครงการวิจัยเรื่องวัฒนธรรมโหบินเนียน ในประเทศไทย โดยระยะแรกได้ทำการวิจัยเฉพาะในฝั่งตะวันตกจากภาคกลางถึงภาคเหนือ จากการสำรวจและขุดค้นวัฒนธรรมยุคหินที่ถ้ำเม่น ถ้ำเขาทะลุ ถ้ำเพชรคูหา และถ้ำหีบ ในบริเวณ ต. บ้านเก่า จ. กาญจนบุรี ระหว่าง พ.ศ. 2520-2526 โดยอาจารย์สุรินทร์ ภู่ขจร ภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี

2521

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทในปีการศึกษา 2521 โดยทรงทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “จารึกพบที่ปราสาทพนมรุ้ง” และเสด็จพระราชดำเนินมาทรงปลูกต้นพิกุล หน้าตึกอาคารเรียนคณะโบราณคดี ในวันที่ 7 ธันวาคม 2521 ตามที่ทางคณบดีขอพระราชทานเพื่อความเป็นสิริมงคลแก่คณะโบราณคดีและชาวโบราณคดีทุกคน

เป็นช่วงที่เพลง “อาลัยลั่นทม” ของ “พี่เจนภพ” หรือ สันติภพ เจนกระบวนหัด ได้ถูกแต่งขึ้น เนื้อเพลงพรรณนาถึงความอาลัยต่อสถานที่เรียนที่เคยผูกพันมา คือตำหนักพรรณรายที่ปลูกต้นลั่นทมไว้เป็นจำนวนมากโดยต่อมาในช่วงหลังเพลง “อาลัยลั่นทม” ได้ถูกนำมาใช้ในงานบายเนียร์ (Bye’nior) หรืองานเลี้ยงส่งนักศึกษาชั้นปีที่ 4 ที่กำลังจะจบการศึกษา

2522

2523

คณะกรรมการนักศึกษาคณะโบราณคดี จัดงาน ศิลปภาคใต้ ณ บ้านมนังคศิลา วันที่ 1-3 กุมภาพันธ์ 2523 เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมของภาคใต้ โดยมีการจัดนิทรรศการทางโบราณคดีภาคใต้ นิทรรศการแสดงชีวิตความเป็นอยู่ของชาวใต้ และนำการละเล่นพื้นเมืองที่หายากมาให้ชมในงาน เช่น รำมโนราห์ และหนังตะลุง เป็นต้น รายได้จากการจัดงานยังได้เอาไว้ใช้สำหรับกิจกรรมของนักศึกษาและเป็นทุนการศึกษาแก่นักศึกษาคณะโบราณคดีที่ขาดแคลน

2524

2525

การศึกษาชาติพันธุ์วิทยา ชนกลุ่มน้อยมลาบรี หรือผีตองเหลือง ในโครงการวิจัยชาติพันธุ์ทางโบราณคดี โดย ศาสตราจารย์ ดร. สุรินทร์ ภู่ขจร จากภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร (2525-2528) ซึ่งนำมาใช้เป็นข้อมูลตีความหลักฐานโบราณคดีที่ขุดพบจากวัฒนธรรมยุคหินกลางหรือโหบินเนียนที่กาญจนบุรี นับเป็นผู้บุกเบิกการศึกษาแบบ “ชาติพันธุ์โบราณคดี” และ “สหวิทยาการ” สำหรับงานโบราณคดี ซึ่งประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาวิชา เป็นท่านแรก

2527

หลังจากก่อนหน้านี้ที่ “ชุมนุม” ได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น “ชมรม” ในราวหลัง พ.ศ. 2524 จนใน พ.ศ. 2527 ชมรมก็ได้ย้ายจากสังกัดคณะโบราณคดีมาสังกัดสโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร ใช้ชื่อว่า “ชมรมอนุรักษ์ศิลปะ โบราณคดี และวัฒนธรรมพื้นบ้าน” โดยมี มโน กลีบทอง เป็นประธานชมรมคนแรก และเปิดรับสมาชิกนักศึกษาต่างคณะ

2528

ราว พ.ศ. 2528- 2529 มหาวิทยาลัยศิลปากรนำโดย รศ. อนุวิทย์ เจริญศุภกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยศิลปากรในขณะนั้นสนับสนุนให้มีโครงการวิจัยภูมิภาคตะวันตกบริเวณลุ่มน้ำท่าจีนในลักษณะสหสาขาวิชา อาจารย์สุภาภรณ์ ตัณศลารักษ์ ได้เข้าร่วมโครงการและนำเสนอการทำวิจัยประวัติศาสตร์สังคมของชุมชนในลุ่มน้ำท่าจีน นับเป็นงานวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นชิ้นแรกของคณะโบราณคดีและของมหาวิทยาลัยศิลปากร ทำให้หมวดวิชาฯ เริ่มเห็นความสำคัญของการศึกษาประวัติศาตร์ท้องถิ่น จึงได้เพิ่มรายวิชาประวัติศาสตร์เกี่ยวกับท้องถิ่นภูมิภาคในกลุ่มประวัติศาสตร์ไทยเข้ามาในหลักสูตรด้วย

INFO-GRAPHIC TIMELINE

OF ARCHAEOLOGY FACULTY, SILPAKORN UNIVERSITY

แผนผังภาพแสดงประวัติคณะโบราณคดีแบบเรียงลำดับเวลา