2539 – 2548 คณะโบราณคดีในยุคโลกาภิวัตน์ ฟื้นบรรยากาศทางวิชาการและกิจกรรมนักศึกษา Download Document

ฟื้นบรรยากาศทางวิชาการและกิจกรรม

คณะโบราณคดีในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ยุคใหม่ มีการตั้งปรัชญาคณะเน้นย้ำหลักการและแนวทางของคณะวิชา สืบเนื่องจากการที่รัฐมีเป้าหมายหลักเพื่อการบริหารพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลกระทบโดยตรงต่อความก้าวหน้าทางวิชาการของแวดวงโบราณคดี ที่มุ่งเน้นการบูรณะซ่อมแซมและการบริหารจัดการโบราณสถานต่างๆ ที่ดำเนินงานโดยเอกชน เพื่อการท่องเที่ยวเป็นหลัก มากกว่าการตอบปัญหาถึงความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของผู้คน บรรยากาศทางวิชาการที่จะถกเถียงแลกเปลี่ยนความรู้ในมหาวิทยาลัย ทั้งงานสัมมนาทางวิชาการ หรืองานเขียนก็ซบเซาลง เพราะต่างคนต่างทำภาระหน้าที่ในด้านการเรียนการสอนที่เพิ่มมากขึ้น ในขณะที่ประชาชนภายนอกเริ่มหันมาสนใจเรื่องประวัติศาสตร์โบราณคดีมากขึ้นทุกที มีคำถามต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่ข้อสงสัยถกเถียงโต้แย้งจากบุคคลภายนอกเหล่านี้ก็เป็นการกระตุ้นเตือนให้ชาวโบราณคดีต้องทบทวนความรู้เก่าหาความรู้ใหม่กับปัญหาต่างๆ ที่เคยสงสัยและไม่เคยสงสัย และไม่ลืมที่จะทำหน้าที่สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่สังคมด้านประวัติศาสตร์โบราณคดีทั้งเพื่อตอบคำถามตนเองและสาธารณชน ซึ่งภาวะขาดแคลนแรงบันดาลใจจากบรรยากาศทางวิชาการนั้นนักศึกษาก็รับรู้ได้ จึงมีการริเริ่ม รื้อฟื้น โครงการอบรม เสวนา ค่ายเผยแพร่ความรู้ต่างๆ ขึ้นใหม่อีกระลอก

2539

ก่อตั้งศูนย์สันสกฤตศึกษา ที่สำนักงานอธิการบดี ตลิ่งชัน เป็นหน่วยงานที่พัฒนามาจากโครงการของภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี เพื่อสนับสนุนการศึกษาด้านภาษาสันสกฤต โดยดำเนินการภายใต้มหาวิทยาลัยศิลปากร ต่อมาได้โอนย้ายมาเป็นหน่วยงานในกำกับของคณะโบราณคดี เมื่อปี 2549

รายงานการวิจัยเรื่อง จิตรกรรมและวรรณกรรมแนวเซอร์เรียลิสต์ในประเทศไทย พ.ศ. 2507-2527 โดย รศ. ดร. สดชื่น ชัยประสาธน์ สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะโบราณคดี ได้รับทุนวิจัยจากสภาวิจัยแห่งชาติและสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. 2539 ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่นจากสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อปี พ.ศ. 2537

2540

คณะโบราณคดีได้จัดสัมมนาเพื่ออธิบาย และตอบคำถามเกี่ยวกับ กรณีทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ จากการตั้งข้อสงสัยของนายมนตรี ลิมปพยอม ผู้ดำเนินรายการหลักของคณะโบราณคดี คือ อาจารย์สมิทธิ ศิริภัทร์ อาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะเขมรโบราณ นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการสาขาต่างๆ ทั้ง สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ธรณีวิทยา ชีววิทยา และผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาพถ่ายสารคดีวัฒนธรรม มาร่วมสัมมนาแสดงความคิดเห็น

โครงการรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น หรือ ที่เรียกว่า ค่ายรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น หรือ ค่ายรักษ์ เป็นการดำเนินการของ ชมรมอนุรักษ์ศิลปะ, โบราณคดี และวัฒนธรรมพื้นบ้าน โดยมีหัวหน้าโครงการเป็นนักศึกษาคณะโบราณคดีและเป็นสมาชิกค่ายส่วนใหญ่ มีอาจารย์ประสพชัย แสงประภา และอาจารย์อัญชนา จิตสุทธิญาณ คณะโบราณคดี เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ เพื่ออบรมเผยแพร่ความรู้ปลูกฝังสำนึกความสำคัญของมรดกวัฒนธรรมแก่เยาวชนในท้องถิ่น รวมทั้งส่งเสริมความเข้าใจอย่างถูกต้องทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี

2541

จุดเริ่มต้นของ "โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย" ที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน เป็นโครงการที่พัฒนาต่อเนื่องมาจาก "โครงการจัดทำสำเนาจารึกดิจิตอลจากสำเนาจารึกกระดาษสา" ซึ่งดำเนินการตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2541-2545 อันเป็นความร่วมมือกันระหว่างภาควิชาภาษาตะวันออก มหาวิทยาลัยศิลปากร โดย อาจารย์อัญชนา จิตสุทธิญาณ และ ผศ. กรรณิการ์ วิมลเกษม กับ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร มหาวิทยาลัยศิลปากร (ขณะนั้น) โดย ศ. คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ (อดีตผู้อำนวยการฯ) เมื่อโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ ในปี พ.ศ. 2545 จึงได้เริ่ม "โครงการฐานข้อมูลจารึกในประเทศไทย ระยะทดลอง" ซึ่งได้จัดทำข้อมูลเท่าที่มีตามสำเนาจารึกดิจิตอล ด้วยระบบการนำเสนอแบบจำแนกจารึกออกเป็นกลุ่มๆ ตามภูมิภาคและจังหวัดที่พบจารึก ต่อมาในปี พ.ศ. 2546 ดร. ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล (ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ในขณะนั้น) มีดำริที่จะปรับปรุงระบบการสืบค้นข้อมูลให้ทันสมัย และเพิ่มเติมข้อมูลของจารึกแต่ละหลักให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงเกิดเป็นความร่วมมือกันระหว่าง ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร, ฝ่ายวิจัยและพัฒนา สาขาคอมพิวเตอร์สมรรถนะสูง ศูนย์เทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) และสำนักวิจัยและสนับสนุนการวิจัย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) จนสำเร็จเป็นฐานข้อมูลที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน

ค่ายสืบสานดนตรีพื้นบ้าน หรือ ค่ายดนตรี จัดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2541 ที่จังหวัดมหาสารคาม และ กาฬสินธุ์ เป็นค่ายของชมรมดนตรี สโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาคณะโบราณคดี อาจารย์ที่ปรึกษาคนแรกคือ อาจารย์อัญชนา จิตสุทธิญาณ ลักษณะแบบการไปเรียนรู้ดนตรีพื้นบ้านในท้องถิ่นจังหวัดต่างๆ

2542

2543

โครงการขุดค้นบ้านโป่งมะนาว ของ รศ. สุรพล นาถะพินธุ มีที่มาเริ่มต้นในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2543 อาจารย์และนักศึกษาภาควิชาโบราณคดี คณะโบราณคดี ได้ร่วมมือกับชมรมอนุรักษ์แหล่งโบราณคดีและทรัพยากรธรรมชาติ ต.ห้วยขุนราม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ราษฎรบ้านโป่งมะนาว และคณะกรรมการบ้านโป่งมะนาว ดำเนินการขุดตกแต่งหลุมจัดแสดงโครงกระดูกมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์บ้านโป่งมะนาว ที่ทางชุมชนได้ดำเนินการไว้ รวมทั้งปรับปรุงการจัดแสดงโบราณวัตถุที่พิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านโป่งมะนาวต่อมาใน พ.ศ. 2544 ทางท้องถิ่นได้จัดทำโครงการขุดค้นทางโบราณคดีเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาแหล่งโบราณคดีบ้านโป่งมะนาว โดยมี อาจารย์สุรพลและนักศึกษาคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นผู้ดำเนินการขุดค้นร่วมกับนักโบราณคดีจากสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 3 จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและชาวบ้านโป่งมะนาว ร่วมกันขุดค้นระหว่างวันที่ 8 – 31 ตุลาคม 2544 และดำเนินการต่อเนื่องมาจนถึงปี 2547

ศ. ปรานี วงษ์เทศ ภาควิชามานุษยวิทยาเรียบเรียงเอกสารที่เป็นประโยขน์ในการสร้างความเข้าใจถึงวัฒนธรรมของผู้คนในดินแดนแถบนี้ตั้งแต่อดีตที่สืบมาถึงปัจจุบัน เพื่อใช้ประกอบการสอนวิชา ชาติพันธุ์วิทยาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้บนผืนแผ่นดินใหญ่ (Ethnology of Mainland Southeast Asia) จัดพิมพ์เป็นหนังสือในชื่อ สังคมและวัฒนธรรมในอุษาคเนย์

เริ่มโครงการโบราณคดีใต้น้ำ หรือเรียกกันว่า ค่ายโบราณคดีใต้น้ำ คณะโบราณคดีฟื้นการฝึกอบรมโบราณคดีใต้น้ำ หลังการอบรมเมื่อกว่า 20 ปีก่อน รุ่น F พ.ศ. 2543 จัดเป็นรุ่นที่ 1 ของการอบรมอย่างเป็นทางการ โดยคัดเลือกผู้เข้ารับการอบรมด้วยการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย เพื่อเรียนดำน้ำและหลักวิธีการทางโบราณคดีใต้น้ำที่กลุ่มงานโบราณคดีใต้น้ำ ค่ายเนินวง จ.จันทบุรี และออกฝึกทะเลจริงที่เกาะหมาก ค่ายโบราณคดีใต้น้ำได้มีการจัดต่อเนื่องเป็นประจำจนถึงปัจจุบันในชื่ออย่างเป็นทางการว่า “อาสาสมัครโบราณคดีใต้น้ำและการอนุรักษ์ท้องทะเลไทย”

ออก จดหมายข่าวโบราณคดี ฉบับที่ 1 มิถุนายน-กรกฎาคม 2543 เพื่อเผยแพร่ข่าวสารด้านโบราณคดี ข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะต่างๆ รวมถึงความรู้ใหม่ๆที่เกิดขึ้นในวงการโบราณคดีและสาขาวิชาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และเป็นชุมทางวิชาการให้มีการถกเถียง วิเคราะห์เรื่องราวความรู้ทางวิชาการในมุมมองต่างๆเพื่อให้เกิดมิติทางโบราณคดี“...บทความต่างๆที่นำมาตีพิมพ์ในฉบับแรกนี้ ล้วนแต่เป็นข้อกังขาและชวนสงสัย ให้กับบุคคลโดยทั่วไปให้เกิดการตั้งคำถามขึ้นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นอย่างนี้จริงหรือ และทำไมจึงเป็นเช่นนั้น?การวิเคราะห์วิจารณ์เป็นกระบวนการสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดความคิดใหม่ๆ เป็นพลังขับเคลื่อนให้คนในสังคมได้คิดพิจารณาและค้นคว้าอยู่เสมอ ผิดหรือถูกอย่างไรนั้นไม่สำคัญเท่ากับกระแสหรือความตื่นตัวต่อปัญหาต่างๆที่ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดจดหมายข่าวฉบับนี้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ใครก็ตามที่มีประเด็นที่น่าสนใจและอยากจะพูด ได้มีโอกาสสื่อออกไปในวงกว้าง เพื่อให้เกิดการปะทะสังสรรค์ หรือต่อยอดทางความคิด เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ในทางสร้างสรรค์อย่างแท้จริง...”(ส่วนหนึ่งของบทบรรณาธิการ จดหมายข่าวโบราณคดี ฉบับที่ 1 มิ.ย.- ก.ค. 2543)

2544

จัดตั้งห้องสมุด ศาสตราจารย์ หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ที่หอสมุดกลาง วังท่าพระ เนื่องจากท่านอาจารย์ มีพระประสงค์จะมอบหนังสือ เอกสาร และสิ่งพิมพ์ต่างๆ ที่ท่านทรงใช้ศึกษาค้นคว้าและสะสมไว้รวมทั้งสไลด์ที่ทรงใช้ประกอบการสอนให้แก่มหาวิทยาลัยศิลปากร เพื่อให้คณาจารย์และนักศึกษาใช้ประโยชน์สำหรับการศึกษาค้นคว้าทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะและโบราณคดีสืบไป

ภาควิชาภาษาตะวันออก เริ่มเปิดโครงการอบรมภาษาสำหรับบุคคลทั่วไป โดยเปิด “โครงการอบรมภาษาฮินดีสำหรับบุคคลทั่วไป” รุ่นที่ 1 ในปี 2544 รวมทั้งต่อมายังได้ทยอยเปิดอบรมภาษาเพื่อนบ้านและภาษาในภูมิภาคเอเชียที่มีความเกี่ยวข้องกับภาษาและวรรณกรรมไทย เช่น พม่า ลาว เขมร มลายู เปอร์เซีย ทมิฬ เป็นต้น และดำเนินการอบรมต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

การสัมมนา “100 ปีชาตกาลของอ็องเดร มาลโรซ์” โดย สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะโบราณคดี จัดขึ้นเนื่องในโอกาสครบรอบร้อยปีเกิดของอ็องเดร มาลโรซ์ (1901-1976) ผู้เป็นนักเขียน นักวิจารณ์ศิลปะ และรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมคนแรกของประเทศฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 27-28 พฤศจิกายน 2544 ณ หอศิลปสถาปัตยกรรมพระพรหมพิจิตร มหาวิทยาลัยศิลปากร

2545

2546

เกิด “ค่ายเยาวชนรักษ์ศิลปะ โบราณคดี และวัฒนธรรมพื้นบ้าน” จัดโดยชมรมอนุรักษ์ศิลปะ โบราณคดี และวัฒนธรรมพื้นบ้าน สโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่น่าจะมาจากการนำค่ายรักษ์ (ค่ายรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่น) รวมกับค่ายใหญ่ (ค่ายเยาวชนทางโบราณคดี) ซึ่งจะสังเกตว่าชื่อค่ายเต็มนั้นก็มาจากการผสมชื่อค่ายทั้งสองเข้าด้วยกัน แล้วยังเรียกค่ายใหม่ที่รวมกันนี้ในอีกชื่อว่า “ค่ายใหญ่” ไปด้วย โดยกลุ่มเป้าหมาย คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งค่ายจะมีลักษณะแบบการนำเที่ยวชมแหล่งโบราณคดี โบราณสถาน ศิลปะ วัฒนธรรมพื้นบ้านต่างๆ 

2548

INFO-GRAPHIC TIMELINE

OF ARCHAEOLOGY FACULTY, SILPAKORN UNIVERSITY

แผนผังภาพแสดงประวัติคณะโบราณคดีแบบเรียงลำดับเวลา